Hometown Cha Cha Cha นอกเหนือจาก ‘ Squid Game เกมเล่นลุ้นตาย’ ก็มี ‘โฮมทาวน์ ชะชะช่า’ ที่คอยครองหน้าฟีดของเราทุกสุดสัปดาห์ ด้วยเรื่องราวโรแมนติกคอมเมดี้ฟีลกู้ดชวนให้ยิ้มตามของ ‘ยุนฮเยจิน’ หมอฟันสาวที่ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่กงจิน เมืองเล็กๆ ริมทะเลที่ไม่มีคลีนิกทำฟันสักร้านเดียว และเธอก็ได้เจอกับ ‘ฮงดูชิก’ หรือหัวหน้าฮง ผู้ชายที่รับจ้างทั่วไปไปทั่วเมืองและเป็นที่รักของคนในเมือง แต่ภายใต้หน้ายิ้ม ๆ เขามีปมในใจที่ไม่มีใครรู้มาก่อน และเขาสองคนก็พัฒนาความสัมพันธ์และคลายปมในใจไปด้วยกัน
ดูรวม ๆ แล้ว ‘โฮมทาวน์ ชะชะช่า’ ก็ดูคล้ายกับซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้ทั่วๆ ไป ที่ขายความน่ารักกุ๊กกิ๊ก เคมีของพระเอกนางเอก เหมือนที่ผู้กำกับยูเจวอนเคยพูดไว้ตอนแถลงข่าวว่า “นี่ไม่ใช่ซีรีส์ที่มีเหตุการณ์ มีปมใหญ่ ๆ แต่เป็นเรื่องราวเล็ก ๆ ของชีวิตประจำวัน” เสน่ห์ของเรื่องเลยไม่ใช่ความแปลกใหม่ แต่เป็นความอบอุ่นที่ช่วยเยียวยาหัวใจในวันที่เรารู้สึกเหนื่อยล้า
จริงอยู่ว่าเรื่องนี้เล่นมุขซ้ำ ๆ ที่เราเห็นในซีรีส์อยู่บ่อย ๆ ให้หลายจุด ทั้งการเจอกันที่เป็นเหมือนโชคชะตา มีซ็อตล้มจ้องตา ความบังเอิญจนเกือบน้ำเน่า และในบางครั้งเหตุผลของตัวละครอาจจะดูอ่อน ๆ ไปบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่เมื่อ มีตัวละครที่เข้าถึงง่าย ชวนให้หลงรัก นักแสดงที่มีเสน่ห์ เคมีล้นจอ และบทที่มีข้อดี ๆ ให้เราคิดตามได้ทุกตอนโดยไม่รู้สึกว่ายัดเยียด ไปจนถึงองค์ประกอบศิลป์ที่ดีงาม ฉากสวย มุมกล้องและงานภาพก็สบายตา และเพลงประกอบซีรีส์ที่ต้องชื่นชมเป็นพิเศษว่าเพราะทุกเพลง
ทั้งหมดนี้ทำพาให้ ‘โฮมทาวน์ ชะชะช่า’ เป็นซีรีส์ที่สมบูรณ์แบบสำหรับวันหยุดที่ต้องการความผ่อนคลาย แต่ไม่ได้เบาหวิวจนรู้สึกว่าไร้สาระ เพราะซีรีส์ได้ซ่อนการสะท้อนสังคมไว้อย่างแนบเนียน
หากเราดูแนวคิดแบบหัวหน้าฮง ที่ฉีกสูตรสำเร็จของชีวิตหลังจบมหาวิทยาลัย อย่างการ ทำงานบริษัทใหญ่ มีแฟน แต่งงาน ซื้อบ้าน มีลูก ก็อาจจะมองได้ว่าเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มที่เรียกว่า เอ็นโพเจเนอเรชั่น (N-Po Generation) ที่หมายถึงคนอายุในช่วงวัย 20 หรือ 30 ปีที่ยอมแพ้กับชีวิตในเกาหลีใต้
เอ็นโพเจเนอเรชั่น มีที่มาจาก N ที่สื่อถึงความไม่มีจุดสิ้นสุดของอินฟินิตี้ และ โพมาจาก 포기하다 (อ่านว่า ‘โพกีฮาดา’) ที่แปลว่าการยอมแพ้ในภาษาเกาหลี ซึ่งพัฒนามาจากคำว่า ‘ซัมโพ’ ที่มาจากการยอมแพ้ในสามเรื่องคือ
- การมีแฟน
- การแต่งงาน
- และการมีลูก
และพัฒนาต่อมาเป็น ‘โอโพ’ โดยโอแปลว่า 5 คือการยอมแพ้ห้าเรื่อง เพิ่มเติมจากสามข้อข้างต้นอีกสองอย่างคือ การมีงานทำและการซื้อบ้านเป็นของตัวเอง จากนั้นก็กลายเป็น 7 เรื่อง และ 9 เรื่อง คือยอมแพ้เรื่องความสัมพันธ์ ความหวัง รูปร่างหน้าตา เรื่อยไปจนกลายเป็นยอมแพ้ทุกอย่างนับเป็นอนันต์ แล้วจึงกลายสภาพเป็นคำว่าเอ็นโพเจเนอเรชั่นในที่สุด
เอ็นโพเจเนอเรชั่น เป็นปัญหาที่ลามมาจาก ปัญหา ‘นรกโชซอน’ ที่หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยิน คือการที่สังคมเกาหลีใต้เนี่ยเป็นสังคมที่มีการแข่งขันและความกดดันสูง แข่งขันเพื่อที่จะเข้ามหาลัยดี ได้งานที่ดี และต้องแข่งขันกับคนที่มีโอกาสและเส้นสายมากกว่า และเมื่อได้ทำงานจริงก็พบการทำงานอาจจะไม่พาให้หลุดพ้นความจนได้ทำให้ชีวิตสิ้นหวังเหมือนอยู่ในนรก ติดอยู่ในสมัยโบราณที่ศักดินาคือการกำหนดชีวิตของคน
สิ่งนี้จึงทำให้เกิดแนวคิดการยอมแพ้แบบเอ็นโพเจเนอเรชั่น เพราะแค่การใช้ชีวิตคนเดียวก็ลำบากและมีค่าใช้จ่ายมากพอแล้ว การเดท การแต่งงาน การมีบ้านและมีลูกที่ต้องใช้เงินมากจึงเหมือนเป็นความฝันที่ไกลเกินเอื้อมหรือเป็นภาระ
ความคิดอบบนี้มีผลทำให้อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ (ข้อมูลปี 2020) ลดไป 10% และทำให้อันตราการเกิดลดต่ำกว่าการตาย โดนมีเด็กเกิดอยู่ที่ 272,400 คน แต่ในขณะที่มีคนเสียชีวิตอยู่ที่ 305,100 คน ซึ่งเป็นปัญหาที่หนักหน่วงสำหรับเกาหลีใต้ เพราะจะนำมาสู่ปัญหาการขาดแรงงานและส่งผลกระทบหนักต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ไปจนถึงปัญหาการมีเมืองที่ถูกทิ้งร้างเมือง เนื่องจากประชากรลดน้อยลง นอกเหนือจากปัญหาเดิมที่คนรุ่นใหม่ย้ายออกไปทำงานในเมือง หรือไปต่างประเทศและไม่กลับบ้านเกิด
เมื่อต้นปีนี้เว็บไซต์ asiaone รายงานว่า มี 105 เมือง และอีก 228 อำเภอ หรือเขต ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์เพราะมีจำนวนประชากรผู้หญิง อายุ 20-39 ไม่ถึงครึ่งของผู้สูงอายุในพื้นที่และทำให้พื้นที่นั้นอาจจะถูกลบหายไปจากแผนที่ไปในอีก 30 ปีข้างหน้า หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข
แต่แทนที่จะนำเสนอเอ็นโพเจเนอเรชั่นว่าเป็นภัยต่อสังคม และเป็นกลุ่มคนที่ต้องถูกปรับแนวคิดใหม่ แต่ ‘โฮมทาวน์ ชะชะช่า’ กลับนำเสนอปัญหาเหล่านี้อย่างนุ่มนวลและคอยปลอบโยนหัวใจผู้ชม โดยชี้ให้เห็นว่าการที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จตามขนบเดิม ๆ ของสังคม ไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไป Army of Thieves
นี่จึงเป็นซีรีส์อีกเรื่องที่ผู้ชมจะได้เห็นความฉลาดของซีรีส์เกาหลี ที่สามารถใช้ soft power แทรกแนวคิดที่อยากปลูกฝังไว้อย่างแนบเนียน เหยาะไว้เหมือนแม็กกี้บนไข่ดาว คือสามารถทำให้ผู้ชมสัมผัสรสชาติของมันได้ แต่ไม่เยอะจนทำประเด็นเหล่านี้เป็นการยัดเยียดหรือทำจนเรื่องหนักแล้วกลายเป็นดูไม่สนุก
ประเด็ดทางสังคมเหล่านี้นอกจากจะทำให้ละครโรแมนติดคอมเมดี้ธรรมดาลึกซึ้งขึ้นแล้ว ก็ยังทำให้คนดูอินกับเรื่องได้มากขึ้น เพราะทุกตัวละครและเหตุการณ์และเป็นเงาสะท้อนของสังคมเกาหลี คอยชี้เห็นปัญหาที่ประชาชนพบเจอ และนำเสนอทางแก้ไปพร้อม ๆ กัน อาทิ
- ประเด็นจำนวนผู้สูงอายุอยู่คนเดียวผ่านทางคุณยายกัมรีและเพื่อน ๆ
ข้อมูลจาก Statistic Korea ในปี 2020 ระบุว่าเกาหลีใต้มีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่คนเดียวกว่า 1.66 ล้านคน และเปอร์เซ็นต์คนอายุช่วง 80 ที่อยู่คนเดียวก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปีที่แล้วมีอยู่ 470,000 คน สรุปให้เห็นภาพคร่าว ๆ คือในจำนวนผู้สูงอายุ 5 คน จะมี 1 คนที่อยู่คนเดียว และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยากจะเข้าถึงการรักษาเมื่อเจ็บป่วย คล้ายกับกงจิน แต่ภาพของชุมชนและชาวบ้านในกงจินแสดงให้เห็นว่าการที่มีชุมชนที่เข้มแข็งและคอยช่วยเหลือกันการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นเป็นไปได้ไม่ยากเลย - นอกจากการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุแล้ว อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เห็นได้ชัดคือการหย่าร้างที่เยอะขึ้นจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปรกติในเกาหลีใต้ เราจึงได้เห็นตัวละครอย่าง
ยองกุกกับฮวาจองที่เลิกกันแล้ว แต่ก็ยังช่วยกันดูแลลูกชายอย่างอีจุนเป็นอย่างดี หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยวอย่างโอยุนที่พยายามเข้าใจลูกสาวอย่างเต็มที่ แม้จะกระทบกระทั่งกันบ้าง ซีรีส์ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการหย่าร้างไม่ได้ทำให้เด็กมีปัญหา เพราะส่ิงที่สำคัญกว่าคือการเอาใจใส่และเปิดใจของผู้ปกครอง
นอกจากนี้ซีรีส์ยังแตะไปถึงปัญหาอื่น ๆ อย่างการที่ LGBT ยังไม่ได้รับการยอมรับจากคนหลาย ๆ กลุ่มในเกาหลีใต้ แต่ก็สื่อทำให้เห็นความหวังของความคิดในสังคมที่เปิดกว้างขึ้น
‘โฮมทาวน์ ชะชะช่า’ พาผู้ชมไปสัมผัสถึงปัญหาเหล่านี้อย่างเบามือด้วยมุมมองที่มองโลกในแง่ดี แต่ก็ไม่ได้ทาสีพาสเทลทับทุกอย่าง จนทำให้เราไม่เห็นปัญหาที่สังคมตจว.ต้องเจอ เช่นการเข้าถึงทางการแพทย์ที่แย่กว่าในเมืองใหญ่ อย่างการไม่มีร้านหมอฟัน หรือสวัสดิการที่หายไปเพราะมีประชากรเกิดน้อยลง อย่างเช่นตอนที่แม่ของโบราต้องไปฝากท้องที่เมืองอื่น แต่ซีรีส์เลือกที่จะเน้นย้ำไปที่การความสุขแบบง่าย ๆ ราวกับจะสื่อว่าสังคมที่ดีซึ่งจะช่วยกันแก้ปัญหา และเมืองน่ารักแบบกงจินเป็นอะไรที่สร้างได้
ภาพของกงจินและหัวหน้าฮงจึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนกระแสของเกาหลีใต้ที่พยายามสอนการล้มเหลวให้เป็น ในสังคมที่มีการแข่งขันสูงปรี๊ด ชวนให้นึกถึงหมู่บ้าน Don’t Worry Village โครงการในเมืองมกโพที่เกิดขึ้นด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล
Don’t Worry Village เป็นโครงการที่เอาตึกร้างมาพัฒนา มีโปรแกรมยาว 6 อาทิตย์เพื่อฟื้นฟูใจของคนที่เหนื่อยล้ากับชีวิตให้พวกเขาได้มาลองทำอะไรเล็ก ๆ ด้วยแนวคิดว่า ‘It’s okay to rest. It’s okay to fail.’ – ‘ไม่เป็นไรถ้าจะพัก และไม่เป็นไรถ้าจะล้มเหลวบ้าง’ และช่วยให้ชุมชนที่เริ่มร้างเพราะมีคนอยู่น้อยลงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
Don’t Worry Village และความสำเร็จที่ถูกนิยามด้วยความสุขของหัวหน้าฮง ต่างสะท้อนแนวคิดแบบ
‘โซฮวักแฮง’ (소확행) ที่แปลว่าความสุขที่เล็กๆ แต่แน่นอน ทำให้เห็นว่าการไม่ได้ทำงานที่บริษัทใหญ่ไม่ใช่ความล้มเหลม และแรงงานรายวันก็เป็น อาชีพที่สุจริตและมีคุณค่า การนำเสนออบบนี้นอกจากจะเป็นกำลังใจให้กับคนใช้แรงงานแล้ว อาจจะเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้มีคนกลับไปพัฒนาบ้านเกิดและลดความแออัดของโซลลง
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นการใช้ soft power เพื่อหล่อหลอมสังคมผ่านทางละครโรแมนติกคอมเมดี้เรียบ ๆ หนึ่งเรื่อง ที่คอยเตือนข้อคิดง่าย ๆ ที่เราอาจจะลืมไป อย่างการให้อภัยตัวเองในวันที่รู้สึกพ่ายแพ้ การชี้ให้เห็นความสำคัญของคนรอบข้าง รวมไปถึงความเป็นชุมชน อย่างที่คุณยายกัมรีบอกกับหัวหน้าฮงไว้ว่า
‘คนเราต้องใช้ชีวิตท่ามกลางคนอื่น ๆ บางครั้งการใช้ชีวิตก็ดูเหมือนแสนหนักอึ้ง แต่ถ้าเราเลือกจะอยู่ถามกลางคนอื่น ๆ จะต้องมีใครสักคนช่วยแบกแกขึ้นหลักอย่างที่แกทำเพื่อฉันอย่างแน่นอน’
คำพูดที่เรียบ ๆ นี้ คอยเตือนให้เราเห็นว่าบางครั้งการใช้ชีวิตท่ามกลางผู้คนและการรับใครเข้ามาในชีวิตอาจจะไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะมีอะไรอีกมากมายในชีวิตที่เราทำคนเดียวไม่ได้ สมกับชื่อเรื่อง ‘โฮมทาวน์ ชะชะช่า’ ที่ผู้กำกับและทีมงานเลือกตั้งชื่อนี้ เพราะการเต้นชะชะช่าต้องอาศัยคู่ที่รวมแรงร่วมใจกัน เหมือนกับจะสื่อว่าสังคมน่ารักแบบกงจินและคนแบบหัวหน้าฮงมีอยู่จริงได้ถ้าเราร่วมสร้างกันขึ้นมา Hometown Cha Cha Cha