Squid Game ซีรีส์แนวเกมรอดชีวิตที่ขึ้นอันดับหนึ่งของ Netflix ไปหลายที่รวมถึงในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ที่มีดีมากกว่าการพลีชีพเพื่อเงินรางวัล
เมื่อมองผ่าน Squid Gameอาจดูเหมือนซีรีส์แนวเซอร์ไววัลธรรมดาทั่วไป ด้วยเรื่องที่ว่าด้วยการแข่งขัน เพื่อชิงเงินรางวัล 45,600 ล้านวอน ที่เดิมพันด้วยชีวิตในเกมเด็กเล่น 6 ด่าน แต่ Squid Gameมีความแตกต่างด้วย บทที่ไร้ความปราณี ความง่ายของกติกาที่ทำให้เกมน่ากลัวกว่าเดิม งานอาร์ตไดเรกชั่น มุมกล้อง และการจัดแสงที่โดดเด่น เพลงประกอบที่ชวนกดดันและเพิ่มความเหนือจริง และความหมายแฝงที่อัดแน่นในทุกอณูทำให้ยิ่งดูยิ่งเห็นภาพของชีวิตจริงซ้อนทับกับเหตุการณ์ในเรื่อง เพราะทุกด่านและกฏกติกาต่างเป็นภาพสะท้อนของโลกภายนอก
เรื่องเริ่มมาด้วยการปูให้เห็นสังคมที่สะท้อนถึง ‘นรกโชซอน’ คำที่คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใช้เรียกประเทศตัวเองที่ไม่ว่าจะพยายามให้ตายแค่ไหนก็ยากที่จะหลุดพ้นจากความจนได้ ผ่านทางสายตาของ ‘ซองกีฮุน’ (รับบทโดย อีจองแจ) ชายผู้ล้มเหลวในชีวิต คนต้องฝากความหวังไว้กับการรวยจากดวงอย่างการเล่นพนันม้า และแม้ว่าเขาจะโชคดีได้เงินมา แต่หนี้สินก็ทำให้เขาไม่มีวันลืมตาอ้าปากได้ จนสมัครเข้าร่วมเล่นเกมเพราะมันคือความหวังสุดท้ายของการหลุดพ้น แม้อาจจะต้องเจอนรกอีกขุมก็ตาม เช่นเดียวกับผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ๆ ซึ่งต่างก็เป็นคนตัวแทนของกลุ่มคนที่ถูกสังคมทุนนิยมต้อนให้จนตรอกในวงจร จน เครียด เป็นหนี้ ซ้ำซ้อนไปมา ในขณะที่พวกเขาพยายามจะต่อสู้เพื่อจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม เช่น
- ซองกีฮุน No.456 – ตัวแทนของชนชั้นแรงงาน (blue collar) เรียนไม่จบมัธยม ถูกให้ออกเพราะบริษัทต้องการลดคน พยายามทำธุรกิจแต่ก็เจ๊ง ติดหนี้หัวโต ครอบครัวแตกแยก
- โจซังอู No.218 (รับบทโดย พัคแฮซู) – ตัวแทนของพนักงานออฟฟิศ (white collar) บ้านไม่มีฐานะนัก เรียนจบมหาวิทยาลัยชั้นนำ และต้องการหนีให้พ้นชีวิตของชนชั้นกลางแต่ก็ล้มเหลว
- อาลี No.199 (รับบทโดย อนุพัม ตรีปาที) – ตัวแทนของแรงงานต่างด้าว ชนชั้นล่างสุดในปีรามิด Army of Thieves
[เนื้อหาในบทความต่อไปนี้ มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องที่อาจส่งผลต่ออรรถรสในการชมได้]
‘ทุกคนเท่าเทียมกันในเกมนี้ ผู้เล่นทุกคนแข่งขันกันอย่างยุติธรรม ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน พวกเขาทรมานจากความไม่เท่าเทียมและการแบ่งแยกจากโลกภายนอก เราให้โอกาสสุดท้ายที่จะต่อสู้อย่างเท่าเทียมและเอาชนะได้แก่พวกเขา’
มองโดยรวมโลกในเกมช่างดูเป็น ‘ประชาธิปไตย’ และเท่าเทียมกว่าข้างนอกมาก มีกฏง่าย ๆ เพียง 3 ข้อคือ ห้ามหยุดเล่นโดยพลการ ผู้เล่นที่ไม่ยอมเล่นเกมจะตกรอบ และ จะสามารถยุติเกมลงได้หากผู้เล่นเกินครึ่งยินยอม ไม่มีการบังคับให้สมัครเข้าเล่นเกม ทุกคนใส่ชุดเหมือนกัน ได้รับอาหารเท่ากัน เล่นเกมภายใต้กติกาเดียวกัน แต่หากมองให้กว้างขึ้นจะเห็นความว่ามันคือความเท่าเทียมจอมปลอม เพราะขณะผู้เข้าแข่งขันกำลังเดินขึ้นบันไดไปทำหน้าที่ของตน มีคนอีกกลุ่มได้ทางลัดขึ้นลิฟท์ไปอยู่เหนือพวกเขา ทั้งเจ้าหน้าที่ชุดชมพูที่ปิดหน้า ทำหน้าที่อย่างแข็งขันโดยห้ามมีความเห็น ‘ฟรอนท์แมน’ คอยคุมกฏทุกอย่างและรายงานต่อ ‘วีไอพี’ ที่คอยดูอย่างสนุกสนานโดยใช้คำว่า ‘ให้โอกาส’ เป็นการบังหน้า ทั้งที่ความจริงการทำแบบนี้ก็ป่าเถื่อนไม่ต่างอะไรกับความของนักเลงทวงหนี้เมื่อต้นเรื่อง
หากเปรียบผู้เข้าแข่งเป็นประชาชน เจ้าหน้าชุดชมพูและฟรอนท์แมนคือรัฐ วีไอพีที่มาจากหลายชาติ ก็อาจจะสื่อถึงกลุ่มธุรกิจใหญ่หรือแชโบลที่แทบจะเรียกได้ว่าครอบครองประเทศในเกาหลีใต้และทุนต่างชาติจากประเทศมหาอำนาจที่คอยชักใยทุกอย่างอยู่เบื้องหลังในจุดที่สูงกว่าจนผู้เข้าแข่งขันได้แค่ภาวนาถึง สื่อผ่านการแต่งฉากให้คล้ายเป็นสัญลักษณ์ของสวนอีเดนในสวรรค์ต่างกับนรกที่ผู้เข้าแข่งขันกำลังเผชิญ ตัวเกมเองก็เป็นการเสียดสีกฏหมายและการใช้ชีวิตในสังคม เช่น
- ‘เกมเออีไอโอยู หยุด’ สื่อถึงการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวด แต่ก็หลีกเลี่ยงได้หากไม่มีใครเห็น และสารนี้ถูกตอกย้ำยิ่งขึ้นเมื่อเราดูในภาษาเกาหลีที่เด็กน้อยจะพูดว่า ‘무궁화 꽃이 피었습니다’ หรือ ดอกมูกุงฮวาบานแล้วแทน ‘เออีไอโอยู หยุด’ ซึ่งแม้จะเป็นบทพูดในการละเล่นที่มีมายาวนาน แต่เมื่อดอกมูกุงฮวา ดอกไม้ประจำชาติของเกาหลีที่อยู่ในธงและสัญลักษณ์ของหน่วยงานรัฐเข้ามาปรากฎในบริบทนี้ก็ยิ่งทำให้การเสียดสีอำนาจรัฐชัดยิ่งกว่าเดิม
- เกมน้ำตาลแผ่น และเกมข้ามสะพานหิน อาจสื่อถึงสังคมที่ไม่มีพื้นที่ให้ข้อผิดพลาด และการทำพลาดแม้แต่นิดเดียวอาจจะต้องจ่ายด้วยชีวิต สะท้อนความเป็นประเทศที่มีความกดดันสูงจนมีสถิติฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นในเอเชีย และทางรอดอาจอยู่ที่การใช้กลโกงหรือทำร้ายคนอื่น Hometown Cha Cha Cha
และเมื่อเรานำตัวละครเหล่านี้ไปไว้ในฉากที่เป็นตัวแทนของชีวิตจริงเราจะเห็นภาพของชีวิตจริงที่ซ่อนไว้ในSquid Game
- การฟอร์มทีมเกมชักเย่อหรือลูกแก้วผู้หญิงและคนชราจะถูกเลือกเป็นคนท้าย ๆ ก็ชวนให้นึกถึงข่าวการเลือกจ้างงานผู้ชายมากกว่า
- การที่อาลีถูกเอาเปรียบในเกมด้วยความที่เป็นคนต่างด้าว ไม่ต่างกับชีวิตจริงข้างนอกของอาลีและแรงงานต่างด้าวทั่วโลก
- กฏที่สุดจะแฟร์ก็มีรอยรั่วได้ถ้าคุณมีผลประโยชน์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ สะท้อนถึงการใช้อำนาจในทางมิชอบ
- ความเมินเฉยของเจ้าหน้าที่ ที่ปล่อยให้ใครทำอะไรได้ตามใจหากไม่ระบุไว้ในกฏ แม้ว่าจะผิดศีลธรรมก็ตาม
- การที่ ‘โออิลนัม’ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข No.001 (รับบทโดย โอยองซู) เป็นคะแนนสุดท้ายที่กำหนดการยุติการแข่งขันในครั้งแรกและการเฉลยว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการใช้เกมวัยเด็กของรุ่นเบบี้บูมเมอร์ส์มาเป็นตัวตัดสินชีวิตคนก็สื่อถึงประเทศที่ถูกวางระแบบและกำหนดชะตาโดยคนรุ่นนี้
- ผู้เล่นที่สมัครใจเข้ามาเล่นเกมทั้งโดยไม่มีใครบังคับ ทั้งที่รู้ว่าทุกอย่างเลวร้ายเหมือนนรกเพราะมันดีกว่ารอความตายอยู่ข้างนอก ก็เหมือนกับคนที่เข้ามาสู่ระบบทุนนิยมด้วยความสมัครใจ ยอมกู้หนี้ยืมสิน แลกร่างกายและความเป็นมนุษย์ให้กับนายทุนและระบบที่บอกว่า ถ้าเพียงทำตามกติกา เอาชนะเกมได้ก็จะประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้ว มีแค่หนึ่งในหลายร้อยที่จะได้สัมผัสสิ่งนั้นหลังจากพยายามแทบตาย ในขณะทีคนอีกกลุ่มไม่ต้องทำอะไรก็อยู่บนยอดปีรามิด
หลายความเห็นอาจมองว่าเกมปลาหมึกในด่านสุดท้ายอาจไม่เร้าใจสมเป็นจุดไคล์แมกซ์ของเรื่อง แต่ความหมายที่แฝงไว้นั้นเข้มข้นสมเป็นด่านสุดท้าย โดยการให้ซองกีฮุนจากชนชั้นแรงงานเป็นฝ่ายบุก ที่ต้องกระโดดขาเดียวไปจนกว่าเขาจะข้าม ‘คอปลาหมึก’ เขาจึงจะเดินสองขาได้เหมือนโจซังอูจากชนชั้นกลางที่คอยตั้งรับและรักษาเขตแดน และเขาจะชนะหากต่อสู้จนได้ไปยืนอยู่ที่ยอดของสามเหลี่ยมบนตัวปลาหมึก เป็นการสรุปการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานที่พยายามข้ามอุปสรรคและความไม่เท่าเทียมของชนชั้นไปสู่จุดจูงสุด ผ่านการละเล่นได้อย่างแยบยล และภาพของความยุติธรรมที่เกมสร้างไว้ก็พังทลายลงอย่างสมบูรณ์ในฉากนั้นเอง
เหตุการณ์ในSquid Game จึงไม่ต่างอะไรกับภาพชีวิตที่เราเห็นทุกวันของผู้คนที่กำลังต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะที่ความจริงเขาอาจจะเป็นเพียงผู้เข้าแข่งขันในเกมที่ออกแบบไว้โดยคนเจนเนอร์เรชั่นก่อนซึ่งใกล้จะตายจากไป ทิ้งในคนรุ่นหลังติดอยู่ในเกมที่ถูกเล่นซ้ำไปไม่รู้จบ Squid Game